การมีตาสองดวง เป็นข้อได้เปรียบอย่างยิ่งสำหรับการรับรู้ระยะทางของพวกเรา
ลองถือดินสอด้ามหนึ่งในระยะแขน ให้มันบังวัตถุใกล้ๆ สักอัน
หากลองปิดตาทีละข้างสลับกัน ดินสอดูเหมือนเคลื่อนที่ได้
นี่เป็นเพราะตาแต่ละดวงมองไปที่ ดินสอ จากมุมที่ต่างกันเล็กน้อย
ปรากฏการณ์นี้ รู้จักกันว่า พารัลแลกซ์
สมองของเราอาศัยระยะระหว่างตาทั้งสอง ที่เรียกว่าเส้นฐาน และมุมที่ทำกับวัตถุเพื่อคำนวณระยะห่างจากวัตถุนั้นได้ในทันที
พารัลแลกซ์:
การย้ายที่ของวัตถุที่ถูกเฝ้าสังเกต
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของผู้สังเกต
โดยวัดจากเส้นฐาน
การวัดทางดาราศาสตร์
ปรากฏการณ์พารัลแลกซ์ ได้ถูกนำไปใช้วัดระยะทางที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะจินตนาการได้ นั่นคือระยะทางจากโลกถึงดวงดาว
เช่นเดียวกันกับดินสอในมุมมองของตาเรา ดาวที่อยู่ใกล้จะดูเหมือนเคลื่อนตำแหน่ง เมื่อเทียบกับดาวที่อยู่ห่างออกไป
ปรากฏการณ์พารัลแลกซ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจาก ตำแหน่งของผู้สังเกตเปลี่ยนแปลงเมื่อโลกเคลื่อนที่ไปตามวงโคจร
เส้นฐานระหว่างดวงตาของผู้ใหญ่โดยเฉลี่ยแล้วจะยาวเพียง 6 เซนติเมตร
ในขณะที่วงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ สามารถสร้างตำแหน่งของผู้สังเกตสองตำแหน่งที่ห่างกันถึง 300 ล้านกิโลเมตร
โดยการถ่ายภาพจากโลกในตำแหน่งที่ห่างกันมากที่สุดดังกล่าว ซึ่งห่างกันหกเดือน
นักดาราศาสตร์สามารถบันทึกองศาของมุม ที่ดาวได้เคลื่อนที่ในช่วงเวลานี้
มุมนี้เรียกว่า มุมพารัลแลกซ์ มีค่าเล็กอย่างเหลือเชื่อ เนื่องจากระยะทางของดวงดาวที่ไกลมหาศาล
โดยการสร้างสามเหลี่ยมมุมฉาก นักดาราศาสตร์รู้ระยะเส้นฐานและมุมสองมุม ซึ่งเป็นข้อมูลที่เพียงพอที่จะใช้ตรีโกณมิติ เพื่อคำนวณหาระยะห่างจากโลกถึงดวงดาวได้
คล้ายๆ กับการทดลองกับดินสอ แต่เป็นระดับที่ยิ่งใหญ่มโหฬาร