พื้นผิวของโลกมีพื้นที่เกือบ 150 ล้านตารางกิโลเมตร
ถูกปกคลุมด้วยภูเขา ป่าไม้ มหาสมุทร ทะเลทราย และเมืองมากมาย
จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราอย่างทั่วถึงจากระดับพื้นดิน
ดังนั้น มนุษย์จึงพัฒนาวิธีการต่างๆ เพื่อใช้แสดงแทนโลก และลักษณะต่างๆ ของโลก ด้วยการใช้ภาพ
วิชาการเขียนแผนที่ หรือศาสตร์การทำแผนที่ จึงไม่ได้เป็นสิ่งสมัยใหม่
ตั้งแต่ภาพเขียนในถ้ำก่อนประวัติศาสตร์ ถึงแผนที่โบราณของบาบีลอน มาถึงยุคแห่งการสำรวจ และเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ผู้คนต่างสร้างสรรค์และใช้แผนที่เพื่ออธิบายและนำทางตนเองไปทั่วโลก
โดยดั้งเดิมแล้ว แผนที่เป็นภาพเขียนสองมิติ
ซึ่งอาจจะใช้เพื่อแสดงแทนลักษณะทางกายภาพ เช่น ภูเขา หรือถนน
และใช้มาตราส่วน โดยขนาดของสิ่งต่างๆ ในแผนที่เป็นสัดส่วนโดยตรงกับขนาดของภูมิประเทศจริง
แผนที่เฉพาะเรื่องจะใช้เพื่อแสดงหัวข้อทางภูมิศาสตร์ต่างๆ เช่น ขนาดของประชากร...
หรือการกระจายตัวของภาษา
แม้ว่าแผนที่ดั้งเดิมยังคงใช้กันโดยทั่วไป เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ให้วิธีการมองโลกใหม่ๆ แก่เรา
ภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายดาวเทียมทำให้เราเห็นภูมิประเทศที่แปลกตา แหล่งโบราณคดี หรือแม้แต่เกาะที่เราไม่เคยรู้ว่ามีอยู่
ดาวเทียมสามารถสร้างภาพประกอบรวมของทั้งซีกโลกหนึ่งได้ และแสดงให้เห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลงอย่างไรตามฤดูกาล สงคราม เกษตรกรรม ประชากร และการทำป่าไม้
เมื่อใช้โซนาร์ เราสามารถสำรวจลักษณะภูมิประเทศของพื้นทะเลได้
ด้วยวิธีเหล่านี้ ภาพสองมิติที่ย่อขนาดลงนั้น ช่วยให้เราหลุดพ้นจากขอบเขตทางกายภาพ ออกไปสำรวจและเข้าใจโลกได้อย่างครบถ้วน