ประเทศไฮติ มกราคม ค.ศ. 2010
เมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 2010 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้นที่ไฮติ หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก
พลังทำลายล้างที่เกิดกับประเทศเล็กๆ ซึ่งกำลังประสบความยากลำบากนี้ ทำให้มีความช่วยเหลือมากมายจากนานาชาติเข้ามาโดยทันที
ความช่วยเหลือแบบฉุกเฉิน
ความช่วยเหลือแบบฉุกเฉินคือการสนับสนุนระยะสั้นภายหลังจากเกิดภัยพิบัติ
รัฐบาลจากหลายๆ ประเทศทั่วโลกได้จัดส่งความช่วยเหลือแบบฉุกเฉินให้แก่ไฮติ ในช่วงวันแรกๆ หลังจากเกิดแผ่นดินไหว
อาหาร น้ำ ยารักษาโรค และเจ้าหน้าที่กู้ภัย ถูกส่งเข้าไปเพื่อช่วยเหลือชีวิตเหยื่อผู้ประสบภัย
แต่ไฮติถูกทำลายอย่างมากจนจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในระยะยาวเพิ่มเติมเพื่อให้ประเทศฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน
ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา
นับตั้งแต่แผ่นดินไหว ประชาคมโลกได้บริจาคเงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อให้ประเทศไฮตินำไปใช้ในการพัฒนา
ความช่วยเหลือนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ไฮติปรับปรุงมาตรฐานของสิ่งปลูกสร้างและโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตที่ปลอดภัยมากขึ้น
ความช่วยเหลือแบบทวิภาคี
ประมาณ 75% ของความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการเป็นไปในแบบทวิภาคี หรือการบริจาคแบบประเทศสู่ประเทศ
ความช่วยเหลือแบบพหุภาคี
ส่วนที่เหลือของความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศเป็นแบบพหุภาคี
ความช่วยเหลือแบบนี้ถูกจัดหามาโดยองค์กรระหว่างประเทศเช่น สมาคมการพัฒนาระหว่างประเทศของธนาคารโลกหรือไอดีเอ ซึ่งจัดสรรเงินบริจาคให้กับประเทศที่ยากจนต่างๆ ตามความต้องการของประเทศเหล่านั้น
ประเทศผู้บริจาคจะร่วมประชุมกันทุกสามปีเพื่อเติมเงินให้แก่กองทุนไอดีเอ
ในปี ค.ศ. 2010 ประเทศต่างๆ 51 ประเทศได้บริจาคเงินรวมกันทั้งสิ้น 49,300 ล้านดอลลาร์เพื่อให้ความช่วยเหลือ
ความช่วยเหลือแบบพหุภาคีช่วยให้มีการกระจายเงินบริจาคได้อย่างเป็นธรรม และไม่ให้เกิดความช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขหรือมีข้อผูกมัด
ความช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข
ความช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขพบได้เมื่อรัฐบาลหนึ่งบริจาคเงินให้กับอีกรัฐบาลหนึ่งโดยมีเงื่อนไขติดมาด้วย ซึ่งโดยปกติจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริจาค
ตัวอย่างเช่น การให้ความช่วยเหลือโดยอาจมีเงื่อนไขว่าจะต้องนำไปใช้เพื่อซื้อหาสินค้าและบริการจากประเทศผู้บริจาค
ความช่วยเหลือแบบเพื่อการกุศล
ไม่เพียงแต่รัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศเท่านั้นที่มีส่วนในการฟื้นฟูประเทศไฮติ
องค์กรเพื่อการกุศลก็ได้ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินและเรียกร้องขอรับเงินบริจาคจากสาธารณชน
ด้วยการจัดคอนเสิร์ตเพื่อการกุศล และโครงการรณรงค์ด้วยการส่งข้อความทางโทรศัพท์เพื่อระดมเงินทุนสำหรับการบรรเทาทุกข์
แต่แม้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือทุกรูปแบบเป็นเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ ไฮติยังคงทนทุกข์ทรมาน
อาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อจะดึงประเทศขึ้นมาจากซากปรักหักพังได้สำเร็จ